ดวงปีกผีเสื้อเหมือนหรือแตกต่างจากดวงจตุสดัย

มีคนถามอาจารย์อาจารย์ว่า รู้จักดวงปีกผีเสื้อไหมครับ รูปดวงเป็นแบบไหนหรอครับ
ลักษณะรูปดวงดังกล่าว หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริบุตร) เป็นดวงจตุสดัย เป็นดวงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คือมีดาวพระเคราะห์ทั้งหลายเป็น ๑ เป็น ๔ เป็น ๗ เป็น ๑๐ จากลัคนา ถือว่าเป็นดวงจตุสดัย ย่อมให้คุณแก่เจ้าชาตายิ่งนัก หากมีดาวเคราะห์อยูตามราศีต่อไปนี้ ยิ่งให้คุณแก่เจ้าชาตามาก แต่ลัคนาสถิตราศีมังกร เป็นราศีทวาร ฉะนั้น ดวงลักษณะนี้ เป็นดวงตุ๊กตาล้มลุกด้วย คือเป็นดวงชาตาที่รวยเร็ว จนเร็ว
มีคำโคลงที่ท่านบูรพาจารย์ ท่านได้แต่งไว้ว่า
“ราหูอาทิตย์ยั้ง เมษจตุสดัย
พุธชีวะกรกฎใน เล่ห์นี้
จันทร์ศุกร์อยู่ตุลย์ ห่อนทราบ เหตุนอ
ภุมะเสาร์มังกรชี้ ชื่ออ้างตามทวาร “
ความหมายตามคำโคลงนี้ มีความหมายว่า ดาวอาทิตย์(๑) ดาวราหู(๘) อยู่ราศีเมษ ดาวพุธ(๔) ดาวพฤหัส(๕) อยู่ราศีกรกฎ ดาวจันทร์(๒) ดาวศุกร์(๖) อยู่ราศีตุลย์ ดาวอังคาร(๓) และดาวเสาร์อยู่ราศีมังกร"
ท่านอาจารย์เทพ สาริกบุตร ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในเรื่องจตุสดัย เป็นนิยามหนึ่งในวงการโหราศาสตร์ไทย ที่เรามักจะเคยได้ยินครูโหรมักกล่าวกันอยู่บ่อยครั้งเสมอ คำว่า จตุสดัย หรือ “ จตุษฎัย ” แปลว่ารูปจตุรัส หมายถึงการที่มีดาวพระเคราะห์ทั้งหลายเป็น ๑, เป็น ๔ , เป็น ๗ , เป็น ๑๐ แก่ลัคนา คล้ายกับมีดาวพระเคราะห์อยู่เป็นมุมกันทั้งสี่ด้าน
ดาวพระเคราะห์ที่เข้าข่ายในอยู่ในราศีบังคับนี้ จะเป็นการบันดาลผลดีให้แก่เจ้าชะตาเป็นอย่างมาก เมื่อดาวพระเคราะห์ทั้งหลายอยู่ครบในทวารราศีทั้ง ๔ แต่ไม่ตรงตามแบบราศีที่บังคับไว้ ท่านครูโหรได้กำหนดให้ได้เป็นเกณฑ์ จตุรงคโชค ให้คุณเป็นดวงที่ดีดุจกัน ให้ผลดีในการรับราชการทางด้านทหาร แม้จะไม่มีดาวพระเคราะห์ทั้ง ๔ ราศี คือมีเพียง ๓ ราศี แต่มีลัคนาแทนที่ในราศีที่ไม่มีดาวพระเคราะห์สถิตย์ จัดได้ว่าเป็นดวงที่ดีเหมือนกัน
ดาวพระเคราะห์ที่สถิตย์ในราศีทวารทั้ง ๔ ถือว่าเป็นจตุสดัยที่ให้คุณแรง จะบันดาลให้เกิดยศศักดิ์และสมบัติอัครฐาน ในคัมภีร์จักรทีปนี เรียกจตุสดัยนี้ว่า “ จตุไทยเกณฑ์ ” ดาวพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในราศีเกณฑ์ ที่เป็น ๑ , เป็น ๔ , เป็น ๗ , เป็น ๑๐ แก่ลัคนา มีผลในคำพยากรณ์ต่าง ๆ ไว้ดังนี้
อาทิตย์เป็นจตุสดัย ช่างเจราจาพาที แต่ไม่ค่อยถูกกับผู้ใหญ่
จันทร์เป็นจตุสดัย ทำการอาสาผู้ใหญ่จะได้ดี และจะได้แทนที่บิดามารดา
อังคารเป็นจตุสดัย มีฤทธิ์และอำนาจมาก ทำการรบศึกมีชัยชนะศัตรู
พุธเป็นจตุสดัย มีบุญมีอำนาจมาก และจะเป็นที่นับถือของคนทั่ว ๆ ไป
พฤหัสเป็นจตุสดัย มีปํญญาและมีข้าวของเงินทอง ช้างม้าวัวควายไร่นามาก
ศุกร์เป็นจตุสดัย จะเป็นที่พึ่งใจแก่คนทั้งหลาย แต่มักจะเป็นคนเจ้าชู้
เสาร์เป็นจตุสดัย มีสมบัติพัสถานมาก บริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค
ราหูเป็นจตุสดัย จะมีสมบัติมาก แต่ให้เกรงจะฉิบหายภายหลัง
ถ้ามี จันทร์ , พฤหัส , เป็นจตุสดัย มีบุญมีทรัพย์มาก มีข้าทาสหญิงชาย และ วัวควายไร่นา ที่ทำมาหากินบริบูรณ์
ถ้าศุภเคราะห์ทั้ง ๔ คือ ดาวจันทร์(๒) ดาวพุธ(๔) ดาวพฤหัส(๕) และดาวศุกร์(๖) เป็นจตุสดัย จะมีสมบัติรุ่งเรือง ดุจเจ้าคนนายคน มีผู้คนบำรุงบำเรอปรนเปอทุกวันคืนแล แต่ถ้าหากเป้นดาวบาปเคราะห์ คือ ดาวอาทิตย์(๑) ดาวอังคาร(๓) ดาวเสาร์(๗) และดาวราหู(๘) เป็นจตุสัย จะต้องผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนจะประสบความสำเร็จ แต่ส่วนมากมักส่งผลที่รุนแรง คือหากให้คุณก็ให้คุณมาก ให้โทษก็ให้โทษมาก คล้ายๆ กับดวงตุีกตาล้มลุก คือชีวิตขึ้นสูงปรี๊ดและหักโค่นลงมาอย่างกระทัน บางคนอายุสั้น บางคนเจอเคราะห์กรรมรุนแรง ถึงแม้จะเกาะกุมกับดาวศุภเคราะห์ก็ทำให้ศุภเคราะห์เสื่อมและส่งผลร้ายอยู่ดี เว้นแต่เจอดาวพฤหัสบดี ในตำแหน่งที่มีกำลังมากเช่นเป็นอุจจ์ เกษตร มหาจักร ราชาโชค ก็จะทำให้เบาบางลงไปได้ ดวงแบบนี้ ครูโหรบางท่านเรียกดวงกากบาท
ภาพดวงจักรทวยะ สำหรับดาวพระเคราะห์ที่สถิตย์ในราศี อาทิเช่น อาทิตย์สถิตย์ในราศีเมษ จันทร์สถิตย์ในราศีกรกฎ เสาร์สถิตย์ในราศีตุลย์ และลัคนาสถิตย์ในราศีมังกร ครูโหรกำหนดไว้ว่าดวงชะตาเช่นนี้เป็นดวงได้เกณฑ์ “ จักรทวยะ ” เป็นผู้มีบุญมากเกิด เป็นราชาโดยแท้จริง
สำหรับดวงที่ได้องค์เกณฑ์
คำว่าองค์เกณฑ์ มี ๒ ประเภท คือ
๑. องค์เกณฑ์ ตามเรือนชาตา คือเรือนที่ ๑ ๔ ๗ และ ๑๐ จากลัคนา จากดาวเจ้าเรือนตนุลัคนา และจากดาวจันทร์(๒) หากดาวดวงใดดวงหนึ่งอยู่ในเรือนดังกล่าว ดาวดวงนั้น ได้องค์เกณฑ์ตามเรือนชาตา ให้ตรวจสอบดาวดวงนั้น ว่าในดวงชาตาเดิมเป็นดาวเจ้าเรือนอะไร เมื่อได้องค์เกณฑ์ ก็จะให้คุณตามเรือนชาตานั้น
๒. องค์เกณฑ์ ตามจักรราศี ใน 12 ราศี โบราณจารย์ท่านแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ประเภท สัตว์น้ำ ประเภทสัตว์เลี้ยง แมลง และ คน เมื่อลัคนาอยู่ในราศี ประเภทใด
จัดได้เป็น เกณฑ์นั้น และหากมีดาวสถิตอยู่ตามลำดับกับลัคนา ดาวดวงนั้น เรียกว่า องค์เกณฑ์
๑. นระราศี ท่านบูรพาจารย์ได้แต่งคำประพันธ์ ไว้ ดังนี้
“นะระสุริยะเรื้อง รังษี
โสระ ชีวะ มี ถูกต้อง
สามองค์ทรงโสภี กุมลัคน์
ชาติใดได้ดั่งพร้อง ยศนั้นนาพัน”
ดวงชาตาประเภทนระราศี หากมีดาวอาทิตย์(๑) ดาวพฤหัส(๕) หรือดาวเสาร์(๗) ดวงใดดวงหนึ่งกุมลัคน์ ท่านกล่าว ดวงชาตานั้น ได้องค์เกณฑ์ประเภทนระเกณฑ์ มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ในสมัยก่อนมีตำแหน่งสูงเป็นเจ้าพระยา ปัจจุบัน หากรับราชาการมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง เช่นเป็นปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรี หากประกอบธุรกิจส่วนตัวก็เป็นเจ้าของกิจการ
๒.ปัศวะราศี ท่านบูรพาจารย์ได้แต่งคำประพันธ์ ไว้ ดังนี้
“ปัศวะทศะต้อง องค์เกณฑ์
ชีวะจันทร์ภุมเมนทร์ ผ่องแผ้ว
อีกองค์พระสุริเยนทร์ ทรงยศ
สี่สถานเลิศแล้ว ยศนั้นถึงพระยา ”
๓. อัมพุราศี ท่านบูรพาจารย์ได้แต่งคำประพันธ์ ไว้ ดังนี้
“อำพุจุ่งแจ้ง สี่สถาน
พุธ ศุกร์ ชีวะวาร ส่องสร้อย
อีกจันทร์ประไพพาลย์ รุจิเรข
คุณย่อมแสดงช้น้อย ยศนั้นถึงพระยา”
๔. กีฏะราศี ท่านบูรพาจารย์ได้แต่งคำประพันธ์ ไว้ ดังนี้
“กิตะสัตะต้อง ภุมเมนทร์
อสุรินทร์องค์เกณฑ์ กล่าวไว้
แม้ชาติในตัวเรา อัปลักษณ์ก็ดี
คุณจักแสดงให้ ยศนั้นเสมอพงศ์”
องค์เกณฑ์ คือ เกณฑ์เกี่ยวกับอำนาจและการบริหารและการปกครอง
#ดวงองค์เกณฑ์ เป็นความถาวร ไม่ลดหย่อน มีแต่เพิ่มหาใดเหมือน
ในการพิจารณาดวงชะตาของผู้ที่จะมีฐานะร่ำรวย ถึงขั้นเป็นเศรษฐีได้นั้น โหราจารย์ท่านให้พิจารณาจาก ตนุลัคน์ วาสนาของเจ้าชะตา และให้พิจารณาจาก องค์เกณฑ์ อุดมเกณฑ์ เกณฑ์ธนะโยค ปทุมเกณฑ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสำนักที่จะให้น้ำหนักความสำคัญกับเกณฑ์ใดเป็นพิเศษ
ดวงองค์เกณฑ์ เป็นเกณฑ์ที่บ่งบอกถึง ยศถาบรรดาศักดิ์ ความเจริญก้าวหน้า ความรุ่งโรจน์ในชีวิตของเจ้าชะตา
องค์เกณฑ์ พระเคราะห์ที่เป็นองค์เกณฑ์ ถึงจะเป็นประ เป็นนิจ เป็นกาลกิณี ก็สงบความร้ายหมด คงให้คุณตามองค์เกณฑ์
ส่วน อุดมเกณฑ์ เกี่ยวกับการที่มีฐานะมั่นคง หรือเกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจ อาจจะเกี่ยวกับการมีอำนาจในการบริหารงานหรือบริษัทได้ คล้ายองค์เกณฑ์แต่สู้องค์เกณฑ์ไม่ได้
อุดมเกณฑ์ คือ ดาวเคราะห์ตามลัคนาในราศีบังคับเช่นเดียวกับองค์เกณฑ์ แต่เรียกชื่อเป็นอุดมนำหน้า คำว่าอุดมเกณฑ์ แปลตามศัพท์ว่า ดีมาก หรือสุขสบาย สวยงาม
อุดมเกณฑ์ อนึ่งพระเคราะห์ที่ได้อุดมเกณฑ์ ท่านว่าเจ้าชะตา จะมิรู้จักเข็ญใจเลย ถ้าไพร่จะได้เป็นนาย
.แต่ละเกณฑ์ ล้วนกล่าวถึงยศศักดิ์ คามเป็นอยู่ เหนือชาตตระกูลเดิม
บางอาจารย์ท่านว่านอกจากดาวบังคับแล้วเป็นดาวอื่นอยู่ตามราศีบังคับตามเกณฑ์แต่ละราศี ท่านว่าเป็นอุดมเกณฑ์ บ่งถึงความอุดมสมบูรณืของโภคทรัพย์
.๑ . “ปัศวะมีพระเคราะห์ ภุมม์ศุกร์เกาะพระจันทร์สูรย์
เรือนดีทวีคูณ กัมมะกูลอริเขา”
ลัคนาอยู่ในราศีปัศวะเกณฑ์ คือราศีเมษ พฤษภ สิงห์ และมีดาว อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ศุกร์ ดาวดวงใดดวงหนึ่งสถิตอยู่ในภพอริ หรือภพกัมมะ ดาวดวงนั้น ได้อุดมเกณฑ์ประเภทปัศวะเกณฑ์ .
๒.“นระคือโสโร วุโธชีโวศุโกรเล่า
สหัชช์ตนุพันธุเคล้า เอาปัตนิและลาภา”
ความหมาย หากลัคนาอยู่ในราศีเกณฑ์นระ คือ ราศีมิถุน กันย์ ตุลย์ ธนู กุมภ์ และมีดาวพุธ(๔) ดาวพฤหัส(๕) ดาวศุกร์(๖) ดาวเสาร์(๗) ดาวดวงใดดวงหนี่ง อยู่ในภพ สหัชชะ ตนุ พันธุ ปัตนิ ลาภะ ดาวดวงนั้น ได้อุดมเกณฑ์ประนระราศี
๓. “อัมพุคือภุมโม ชีโวโสโรและโสรา
พันธุแลปุตตา แลศุภาว่าสำคัญ”
ลัคนาอยู่ในราศีประเภทอัมพุ คือ ราศีมีน กรกฏ มังกร มีนดาวอังคาร พฤหัส เสาร์และราหู ดาวดวงใดดวงหนึ่งอยู่ในภพพันธุ ปุตตะและศุภะ ดาวดวงนั้น ได้อุดมเกณฑ์ประเภทอัมพุเกณฑ์
๔. “กีฏะคืออสุรินทร์ ทั้งภูมินทร์สหัชช์พัน
ปัตนิศุภะอัน วินาสน์นั้นอุดมเกณฑ์”
ความหมาย หากลัคนาอยู่ในราศีประเภทกีฏะ คือ ราศีพฤศจิก ราศีเดียว ะมีดาวอังคาร(๓) หรือดาวราหู(๘) ดาวดวงใดดวงหนึ่งอยู่ในภพสหัชชะ ปัตนิ ศุภะ และภพวินาสน์ ดาวดวงนั้น ได้อุดมเกณฑ์ ประเภทกีฏะเกณฑ์
ดวงปทุมเกณฑ์
“อนึ่งจันทร์สิบเอ็ดแท้ แก่ลัคน์
พฤหัสสี่ทรงศักดิ์ แช่มช้อย
ศุกร์สามดั่งนี้จัก เจริญยิ่ง ยศแฮ
หากว่าชาติต่ำต้อย ยกให้เสมอพงษ์”
คำอธิบายตามคำโคลงนี้ จันทร์เป็นสิบเอ็ดแก่ลัคนา พฤหัสเป็นสี่แก่ลัคนา ดาวศุกร์เป็นสามแก่ลัคนา ท่านว่าเป็นดวงปทุมเกณฑ์ ให้เกิดมาต่ำต้อยอย่างไรก็ต้องมีคนยกย่องให้เสมอเทวดาคือจากคนธรรมดา ก็ต้องอวยยศให้เป็นเจ้าคนคน
แต่ท่านอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ท่านได้ให้คำอธิบายว่า จันทร์(๒) เป็นสิบเอ็ดแก่ลัคน์ ดาวพฤหัส(๕) เป็นสี่จากจันทร์(๒) และดาวศุกร์(๖) เป็นสามกับดาวอาทิตย์(๑) จึงเรียกว่าปทุมเกณฑ์ อย่างอื่นหาใช่ไม่ โดยท่านได้อธิบายว่า ราศีที่ ๑๑ จากลัคนาคือภพลาภะ ซึ่งหมายถึงลาภผลและรายได้ หากดาวจันทร์(๒) ไปสถิตในภพลาภะ เจ้าชาตาเป็นคนขยันในการหารายได้ เอาทุกทางโดยไม่เลือกแบบและไม่เลือกอาชีพ ประกอบกับดาวพฤหัส(๕) เป็น ๔ จากดาวจันทร์(๒) เรียกว่าดาวพฤหัส(๕) ได้เกณฑ์จันทร์ ย่อมจะทำให้มีปัญญาเฉียบแหลมฉลาดเฉลียว ในการหารายได้ เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหากดาวศุกร์(๖) เป็นสามกับดาวอาทิตย์(๑) ซึ่งดาวศุกร์(๖) อยู่ห่างจากดาวอาทิตย์มากที่สุดไม่เกิน ๔๖ องศา หรือประมาณ ๓ ราศี ซึ่งลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าดาวศุกร์(๖) เพ็ญ ซึ่งอยู่หน้าดวงอาทิตย์(๑) เรียกว่าดาวประจำเมือง และหากอยู่หลังดวงอาทิตย์(๑) เรียกว่าดาวประกายพฤกษ์ ซึ่งเป็นระยะที่ดาวศุกร์มีแสงสว่างที่สุดบนท้องฟ้า เมื่อศุกร์ดีที่สุด คำนิยามที่ว่า กิเลสสมบัติทายศุกร์ ก็จะดีไปด้วย
จตุไทยเกณฑ์
“บทหนึ่งพึงเร่งนับ จากลัคนา
หากอาทิตย์จรมา อยู่เย้า
เป็นหนึ่งสี่เจ็ดลัคนา หรือสิบ
หากอัฏฐเคราะห์ร่วมเข้า เรียกได้ไทยเกณฑ์”
ท่านอาจารย์บรรเทา จันทร์ศร(อุตรภัทร์) ท่านได้ประพันธ์ไว้ และให้ความหมายว่า ในเรือนที่หนึ่ง สี่ เจ็ด หรือสิบจากลัคนาราศีใดราศีหนึ่ง แล้ว มีดาวอาทิตย์(๑) สถิตอยู่ พร้อมมีดาวเคราะห์จากดาวอาทิตย์(๑) ถึงดาวราหู(๘) ดวงใดดวงหนึ่งเป็นหนึ่ง สี่ เจ็ด สิบ จากลัคนา โดยไม่ต้องร่วมราศีเดียวกันก็ได้ เรียกว่าจตุไทยเกณฑ์
จตุแปลว่า สี่ หมายถึงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ หรือลาภยศ บริวาร ธนสาร สมบัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง
โยคเกี่ยวกับจันทร์(๒)
ดาวจันทร์(๒)ทางโหราศาสตร์ไทยถือว่าเป็นลัคนาตัวหนึ่งคู่กับดาวอาทิตย์(๑) หากรู้แต่เพียงวันเดือนปีเกิดแต่ไม่รู้ว่าเวลาเกิด ก็สามารถเอาดาวจันทร์(๒) ใช้แทนลัคนาได้
โยคเกี่ยวกับดาวจันทร์(๒)
๑. มีดาวสถิตราศีที่ ๒ ราศีที่ ๖ ราศีที่ ๗ ราศีที่ ๘ และราศีที่ ๑๒ จากดาวจันทร์(๒) หากดวงชาตาใดมีดาวเคราะห์อยู่ในราศีที่ ๒ ราศีที่ ๖ ราศีที่ ๗ ราศีที่ ๘ และราศีที่ ๑๒ ครบถ้วนจากดาวจันทร์(๒) ดวงชาตานั้นจะมีความสมบูรณ์พูนสุขในทุกประการ หากมีไม่ครบ ๕ ราศี มีเพียง ๓ ราศี ซึ่งอาจจะเป็นราศีที่ ๒ ราศีที่ ๘ ราศีที่ ๑๒ จาก ดาวจันทร์(๒) ก็ยังใช้ได้ อย่างน้อยก็มีเงิน มีผู้สนับสนุนด้านการเงิน หรือกล่าวว่า จะไม่มีความขัดสนด้านการเงิน จะมีสนับสนุนด้านการเงิน หากไม่ดาวใน ๕ ราศี คนนั้น จะอยู่ในฐานะที่ยากจน
๒. ท่านได้ให้คำอธิบายว่า ราศีที่ ๒ จากดาวจันทร์(๒) หมายถึงการเงินและทรัพย์สิน ราศีที่ ๖ หมายถึงการใช้และการบริการ ราศีที่ ๗ หมายถึงหุ้นส่วน ราศีที่ ๘ หมายถึงการฟื้นคืนชีพหรือการแก้ไขความเบื่อหน่ายให้มีความสุขและมีความกระตือรือร้น ราศีที่ ๑๒ หมายถึงมีคนสนับสนุน การผลักดันและการป้องกันความเสียหาย
ดังนั้น หากไม่มีดาวในเรือนที่ ๒ จากดาวจันทร์(๒) ก็ปราศจากทรัพย์สินเงินทอง หากไม่มีดาวในเรือนที่ ๖ จากดาวจันทร์(๒) ก็ไม่มีคนใช้และคนให้บริการ หากไม่มีดาวในเรือนที่ ๗ จากดาวจันทร์(๒) ก็ไม่มีคู่ครอง หุ้นส่วน และคู่ปรึกษาหารือ หากไม่มีดาวในเรือนที่ ๘ จากดาวจันทร์(๒) ไม่มีมรดก พินัยกรรม หากไม่มีดาวในเรือนที่ ๑๒ จากดาวจันทร์(๒) ขาดคนให้การสนับสนุนทั้งการงานและการเงิน
ท่านอาจารย์กล่าวว่า หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พอไหว หรือขาดสัก ๓ อย่าง ก็พอไปได้ และหากขาดไปทุกราศีจากดาวจันทร์(๒) ก็จะเป็นคนยากจนเข็ญใจ
๓. มีดาวเคราะห์อยู่ในที่ ๑๒ จากดาวจันทร์(๒) เรียกว่าอานะยะโยค เป็นผู้บังคับบัญชา มีสง่าราศี มีสุขภาพดี มีศิลธรรม พอใจทางกามารมณ์ ตอนปลายของชีวิต จะเลื่อมใสในศาสนาและสละความสุขทางโลก
๔. มีดาวเคราะห์อยู่ในเรือนที่ ๒ จากดาวจันทร์(๒) เรียกว่า ศูนะยะโยค ประสบความสำเร็จในการสร้างตนเอง สามารถหาทรัพย์สินด้วยตนเอง เป็นคนฉลาดและมีชื่อเสียง
๕. มีดาวเคราะห์อยู่ในเรือนที่ ๒ และ ๑๒ จากดาวจันทร์(๒) เรียกว่าทุราทุระโยค จะมีความพอใจในทุกสิ่งทุกอย่าง มียานพาหนะ มีความอารีอารอบ มีความกรุณา บุตรหลานซื่อตรงและว่านอนสอนง่าย
๖.หากไม่ดาวเคราะห์อยู่ในเรือนที่ ๒ และ ๑๒ จากดาวจันทร์(๒) เรีกว่า เกมะทรุมโยค จะเป็นคนมีความทุกข์ร้อนขัดสนตลอดชีพ และสามารถทำให้โยคทั้งปวงเป็นกลาง
โยคเกี่ยวกับดาวอาทิตย์(๑)
ดาวอาทิตย์(๑) ก็คล้าย ๆ กับดาวจันทร์(๒) คือต้องมีดาวอยู่ในราศีที่ ๒ ราศีที่ ๖ ราศีที่ ๗ ราศีที่ ๘ และราศีที่ ๑๒ จากดาวอาทิตย์(๑) จึงจะเป็นชาตาที่สมบูรณ์ หากไม่มีถือว่าชาตาชีวิตไม่สมบูรณ์
๑. มีดาวอยู่ในเรือนที่ ๑๒ จากดาวอาทิตย์(๑) เรียกว่า วสิโยค จะเป็นคนมีอำนาจและมีทรัพย์สินเงินทอง
๒. มีดาวศุภะเคราะห์อยู่เรือนที่ ๒ จากดาวอาทิตย์(๑) เรียกเวสิโยค จะเป็นคนมีวาทะศิลป์ในเจรจา มีทรัพย์สิน เป็นคนกล้าหาญ เป็นคนใจบุญ
๓. มีดาวศุภะเคราะห์อยู่ในเรือนที่ ๒ และ ๑๒ จากดาวอาทิตย์(๑) เรียกว่า อุภะยะจาริโยค จะเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคนอื่น มีความรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ทุระทุราโยคจากดาวเสาร์(๗)
"เสารากล่าวโทษทุกข์ ทวยแถลง
ดาวเกาะหน้าอย่าแคลง กล่าวเศร้า
เกาะหลังยังส่งแสง ส่ำสอด มานา
ตกยากลำบากเจ้า จุ่งแจ้ง จำทรง"
ความหมายของโคลงบทนี้ มีดาวเคราะห์เป็น ๒ และ ๑๒ จากดาวเสาร์ เรียกว่าทุระทุราโยค เจ้าชาตาจะประสบความทุกข์ ๆ ยาก ๆ ตลอดเวลา ดาวดวงใดเป็นทุระทุราโยค ดาวดวงนั้น ก็จะเป็นเช่นนั้น ภพที่ ๒ จากดาวเสาร์(๗) คือภพกดุมภะ(การเงิน) ภพที่ ๑๒ จากดาวเสาร์(๗) คือภพวินาสน์
... จากหนังสือ เคล็ดลับการพยากรณ์ ของ อ.บรรเทา จันทรศร [ อุตรภัทร์ ] ...
... ในโยคของจันทร์มีทุระทุราโยค ซึ่งหมายถึงโยคดี แต่ในจักรทีปนีและตามคำนิยามของโหรไทยคำว่า ทุระทุราโยค นั้น
แปลว่า โยคไม่ดี หรือแปลว่า ทุกข์ๆ ยากๆ ซึ่งโยคนี้เป็นโยคที่เกี่ยวกับดาวเสาร์ หมายถึงมีดาวเคราะห์อยู่ในราศีที่ 2 และที่
12 จากดาวเสาร์ เรียกว่า ทุระทุราโยค คือประสบทุกข์ยากอยู่เนืองๆ ...
... แต่ทั้งนี้ตามที่สังเกตุไม่ได้เป็นไปหมดทั้งดวงชาตา เป็นไปตามเจ้าเรือนของลัคนา ที่อยู่ในราศีที่ 2 และที่ 12 จากเสาร์เท่านั้น คือดาวเคราะห์ดวงใดอยู่ราศีที่ 2 และที่ 12 จากเสาร์ ดวงนั้นก็จะประสบ ทุระทุราโยค
ดังนั้นดาวมฤตยู พฤหัสและอังคารถูกทุระทุราโยค ซึ่งดาวพฤหัสเป็นเจ้าเรือนตนุและเจ้าเรือนกัมมะ จึงทำให้เจ้าชาตาประสบความลำบากตั้งแต่ตอนเด็กๆจนถึงแก่ ก็ยังไม่พ้นจากความลำบาก ส่วนเรื่องการงานก็เข้าๆออกๆตลอดเวลา และไป
ทำงานอาชีพใดๆก็ต้องรับภาระหนักมากกว่าเพื่อน ...
ส่วนดาวอังคารที่กุมลัคนานั้นเป็นเจ้าเรือนกฎุมภะ และเจ้าเรือนศุภะ ก็ทำให้เจ้าชาตามีความทุกข์ยาก เกี่ยวกับเงินทอง ...
ตลอดเวลา มีเงินเมื่อใดก็มีคนช่วยใช้มากๆ แต่เมื่อเงินหมดต้องหาคนเดียว ดังนั้นการเงินจึงลุ่มๆดอนๆ อย่างนี้เป็นต้น และในดวงนี้นอกจาก อังคารจะเป็นทุระทุราโยคแล้ว ชาตายังใกล้ๆกับมหาธนโยค คือโยคเศรษฐี คือ เจ้าเรือนที่ 2 กุมลัคน์ ...
เจ้าเรือนลัคน์ไปอยู่ภพที่ 3 เจ้าเรือนภพที่ 3 อยู่ในเรือนลาภะ เจ้าเรือนลาภะอยู่ในเรือนกฎุมภะ เจ้าเรือนกฎุมภะกุมลัคนา ...
ซึ่งถ้าหากดาวอังคารและพฤหัส ไม่ถูกทุระทุราโยค ก็คงจะเป็นคนมีเงินคนหนึ่งเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นทุระทุราโยค ก็จะกลายเป็นคนเดี๋ยวมีเดี๋ยวจน ใช้เงินเปลือง มีคนรบกวนเงินทองตลอดเวลา ...
... และทุระทุราโยคนี้ โหรไทยนิยมใช้กันมาก คู่ๆกันกับเกณฑ์ชาตาทีเดียว