ดวงจันทร์ครุสุริยากับดวงจตุสดัยต่างกันอย่างไร


มีคำโคลงที่ท่านบูรพาจารย์ ท่านได้แต่งไว้ว่า
“ราหูอาทิตย์ยั้ง เมษจตุสดัย
พุธชีวะกรกฎใน เล่ห์นี้
จันทร์ศุกร์อยู่ตุลย์ ห่อนทราบ เหตุนอ
ภุมะเสาร์มังกรชี้ ชื่ออ้างตามทวาร “
ความหมายตามคำโคลงนี้ มีความหมายว่า ดาวอาทิตย์(๑) ดาวราหู(๘) อยู่ราศีเมษ ดาวพุธ(๔) ดาวพฤหัส(๕) อยู่ราศีกรกฎ ดาวจันทร์(๒) ดาวศุกร์(๖) อยู่ราศีตุลย์ ดาวอังคาร(๓) และดาวเสาร์อยู่ราศีมังกร
"
ท่านอาจารย์เทพ สาริกบุตร ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในเรื่องจตุสดัย เป็นนิยามหนึ่งในวงการโหราศาสตร์ไทย ที่เรามักจะเคยได้ยินครูโหรมักกล่าวกันอยู่บ่อยครั้งเสมอ คำว่า จตุสดัย หรือ “ จตุษฎัย ” แปลว่ารูปจตุรัส หมายถึงการที่มีดาวพระเคราะห์ทั้งหลายเป็น ๑, เป็น ๔ , เป็น ๗ , เป็น ๑๐ แก่ลัคนา คล้ายกับมีดาวพระเคราะห์อยู่เป็นมุมกันทั้งสี่ด้าน
ดาวพระเคราะห์ที่เข้าข่ายในอยู่ในราศีบังคับนี้ จะเป็นการบันดาลผลดีให้แก่เจ้าชะตาเป็นอย่างมาก เมื่อดาวพระเคราะห์ทั้งหลายอยู่ครบในทวารราศีทั้ง ๔ แต่ไม่ตรงตามแบบราศีที่บังคับไว้ ท่านครูโหรได้กำหนดให้ได้เป็นเกณฑ์ จตุรงคโชค ให้คุณเป็นดวงที่ดีดุจกัน ให้ผลดีในการรับราชการทางด้านทหาร แม้จะไม่มีดาวพระเคราะห์ทั้ง ๔ ราศี คือมีเพียง ๓ ราศี แต่มีลัคนาแทนที่ในราศีที่ไม่มีดาวพระเคราะห์สถิตย์ จัดได้ว่าเป็นดวงที่ดีเหมือนกัน
ดาวพระเคราะห์ที่สถิตย์ในราศีทวารทั้ง ๔ ถือว่าเป็นจตุสดัยที่ให้คุณแรง จะบันดาลให้เกิดยศศักดิ์และสมบัติอัครฐาน ในคัมภีร์จักรทีปนี เรียกจตุสดัยนี้ว่า “ จตุไทยเกณฑ์ ” ดาวพระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในราศีเกณฑ์ ที่เป็น ๑ , เป็น ๔ , เป็น ๗ , เป็น ๑๐ แก่ลัคนา มีผลในคำพยากรณ์ต่าง ๆ ไว้ดังนี้
อาทิตย์เป็นจตุสดัย ช่างเจราจาพาที แต่ไม่ค่อยถูกกับผู้ใหญ่
จันทร์เป็นจตุสดัย ทำการอาสาผู้ใหญ่จะได้ดี และจะได้แทนที่บิดามารดา
อังคารเป็นจตุสดัย มีฤทธิ์และอำนาจมาก ทำการรบศึกมีชัยชนะศัตรู
พุธเป็นจตุสดัย มีบุญมีอำนาจมาก และจะเป็นที่นับถือของคนทั่ว ๆ ไป
พฤหัสเป็นจตุสดัย มีปํญญาและมีข้าวของเงินทอง ช้างม้าวัวควายไร่นามาก
ศุกร์เป็นจตุสดัย จะเป็นที่พึ่งใจแก่คนทั้งหลาย แต่มักจะเป็นคนเจ้าชู้
เสาร์เป็นจตุสดัย มีสมบัติพัสถานมาก บริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค
ราหูเป็นจตุสดัย จะมีสมบัติมาก แต่ให้เกรงจะฉิบหายภายหลัง
ถ้ามี จันทร์ , พฤหัส , เป็นจตุสดัย มีบุญมีทรัพย์มาก มีข้าทาสหญิงชาย และ วัวควายไร่นา ที่ทำมาหากินบริบูรณ์
.#ถ้าศุภเคราะห์ทั้ง ๔ คือ ดาวจันทร์(๒) ดาวพุธ(๔) ดาวพฤหัส(๕) และดาวศุกร์(๖) เป็นจตุสดัย จะมีสมบัติรุ่งเรือง ดุจเจ้าคนนายคน มีผู้คนบำรุงบำเรอปรนเปอทุกวันคืนแล แต่ถ้าหากเป้นดาวบาปเคราะห์ คือ ดาวอาทิตย์(๑) ดาวอังคาร(๓) ดาวเสาร์(๗) และดาวราหู(๘) เป็นจตุสัย จะต้องผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนจะประสบความสำเร็จ แต่ส่วนมากมักส่งผลที่รุนแรง คือหากให้คุณก็ให้คุณมาก ให้โทษก็ให้โทษมาก คล้ายๆ กับดวงตุีกตาล้มลุก คือชีวิตขึ้นสูงปรี๊ดและหักโค่นลงมาอย่างกระทัน บางคนอายุสั้น บางคนเจอเคราะห์กรรมรุนแรง ถึงแม้จะเกาะกุมกับดาวศุภเคราะห์ก็ทำให้ศุภเคราะห์เสื่อมและส่งผลร้ายอยู่ดี เว้นแต่เจอดาวพฤหัสบดี ในตำแหน่งที่มีกำลังมากเช่นเป็นอุจจ์ เกษตร มหาจักร ราชาโชค ก็จะทำให้เบาบางลงไปได้ ดวงแบบนี้ ครูโหรบางท่านเรียกดวงกากบาท
#ข้อแตกต่างระหว่างดวงจันทร์ ครุ สุริยา กับดวงจตุสดัย
ทุกราศีที่ดาวสถิตอยู่จะเป็นราศีทวาร คือ ราศีเมษ ราศีกรกฎ ราศึตุลย์ และราศีมังกร ข้อแตกต่างกับดวงจันทร์ครุสุริยา ดาวจันทร์(๒) ดาวพฤหัส(๕) และดาวอาทิตย์(๑) จะอยู่ที่ราศีไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นราศีทวาร หรือจรราศี คือ ราศีเมษ ราศีกรกฎ ราศีตุลย์และราศีมังกร แต่ดวงจตุสดัย จะต้องมีดาวแต่ละดวงอยู่ในราศีที่กำหนด กล่าวคือ ดาวอาทิตย์(๑) ดาวราหู(๘) อยู่ราศีเมษ ดาวพุธ(๔) ดาวพฤหัส(๕) อยู่ราศีกรกฎ ดาวจันทร์(๒) ดาวศุกร์(๖) อยู่ราศีตุลย์ ดาวอังคาร(๓) และดาวเสาร์อยู่ราศีมังกร
ดวงจันทร์ ครุ สุริยา
ดาวจันทร์(๒) ดาวพฤหัส(๕) ดาวอาทิตย์(๑) ดาวทั้ง ๓ ดวงนี้ สถิตอยู่ในราศีทวารทั้ง ๔ จะเป็นราศีเดียวกัน หรือคนละราศีก็ได้ แต่ต้องอยู่ในราศีทวารก็แล้วกัน ดวงชาตานั้นจะเหมือนกับพลุลอยฟ้า หาคนเปรียบมิได้ทีเดียว ดวงจันทร์ ครุ สุริยา อาจารย์โหรนิยมกันมาก ถึงแม้จะไม่ใช่อาทิตย์ จันทร์ พฤหัส จะเป็นดาวอื่น ๆ ก็ได้ หากสถิตอยู่ในราศีจนครบ ๔ ราศีทวาร และมีลักษณะสถิติอยู่ด้วย ท่านเรียกว่าดาวจตุสดัยเกณฑ์ ให้คุณอย่างยิ่งเหมือนกัน
โดยเฉพาะดาวจันทร์(๒) ดาวพฤหัส(๕) ดาวอาทิตย์(๑) เป็น ดาวศุภเคราะห์ทั้งนั้น และเป็นคู่มิตรกันด้วยให้คุณทางบุญฤทธิ์ ถ้าเป็นดาวบาปพระเคราะห์ให้คุณทางอิทธิฤทธิ์ หรือเรียกว่า ดวงตุ๊กตาล้มลุก คือจะพุ่งก็พุ่งมาอย่างรวดเร็ว ถึงคราวจะตกก็ตกอย่างรวดเร็ว เป็นแบบชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน เพื่อเป็นการจำง่าย ๆ ท่านจึงเขียนเป็นโคลงไว้ ดังนี้:-
ทวารทั้งสี่นั้น กรกฎา
ตุลย์, เมษ, มกรา ครบถ้วน
จันทร์, ครุ สุริยา สถิตอยู่
ได้จักรดังนี้ล้วน ยิ่งล้ำใครเสมอ